ผศ.ดร.รัฐกร พูลทรัพย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
การนำบล็อกเชนไปใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ลดการทุจริตนั้นสามารถทำได้หลากหลายมิติ ในบทความนี้จะขอแนะนำระบบยืนยันตัวตนของตัวแทนหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน เป็นระบบแรกที่นำมาใช้เพื่อปรับปรุงและปฏิรูปประเทศให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เราคงเคยได้ยินเรื่องราวที่มีคนแอบอ้างว่าเป็นพนักงานของภาครัฐหรือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐเข้ามาแสดงตน แล้วก็ใช้กลอุบายในการหลอกลวงประชาชนเพื่อเอาทรัพย์สิน หรือบังคับให้ซื้อสินค้าและบริการจากบุคคลดังกล่าวด้วยวิธีต่างๆมากมาย ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอันหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวจะมีคนมาแอบอ้างว่าตนเองเป็นมัคคุเทศก์ที่ได้รับการรับรองและอนุญาตอย่างถูกต้องจากภาครัฐ มาหลอกนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยวิธีการต่างๆ โดยร่วมมือกับพวกร้านค้าหลอกให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการหรือซื้อสินค้าในราคาแพงเกินจริง หรือหลอกให้ไปซื้อสินค้าปลอม เช่น เพชรปลอม สินค้าทำเลียนแบบ เป็นต้น บางรายก็หลอกลวงนักท่องเที่ยวไปรูดทรัพย์สินของมีค่าแล้วก็ปล่อยลอยแพทิ้งไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยวห่างไกล
นอกจากนี้ยังมีพวกคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่หลอกเอานักท่องเที่ยวไปสถานที่ต่างๆ โดยระบุว่าไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วก็พานักท่องเที่ยวไปตามร้านค้า ร้านให้บริการต่างๆมากมาย ซึ่งในที่สุดก็สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพพจน์การท่องเที่ยวของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท รวมทั้งสร้างความเสียหายและอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อย ไม่คิดจะกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมาหลอกลวงประชาชน ห้างร้านในเรื่องของภาษี หรือหลอกลวงในเรื่องของการขอบริจาคเงินเพื่อการกุศล ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนและห้างร้านที่ได้ถูกรีดไถจากกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว หรือตัวอย่างหนึ่งที่เราจะพบเห็นได้บ่อยก็คือการที่ผู้ขับแท็กซี่ไม่ได้มีใบอนุญาตในการขับขี่รถสาธารณะอย่างถูกต้อง แล้วก็มาแอบอ้างล่อลวงผู้โดยสารจนเกิดการสูญเสียทรัพย์สิน หรือทำการล่วงละเมิดทางเพศเป็นต้น ทั้งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะในหน่วยงานของภาครัฐเท่านั้น ในภาคเอกชนเองก็พบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ตัวอย่างในพนักงานขายประกันหลอกลวงประชาชนโดยจะมีผู้มาแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนขายประกัน ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง มาขายประกันให้กับประชาชนต่างๆ แล้วก็นำเงินค่าเบี้ยประกันไปใช้เอง โดยที่ไม่ส่งเบี้ยประกันให้กับบริษัท ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการประกันภัย
วิธีการทั่วไปในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือหน่วยงานต่างๆ ได้มีการออกบัตรประจำตัวเพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บัตรประจำตัวดังกล่าวจะถูกนำไปแสดงให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวดูว่าตัวเองเป็นผู้ที่ถูกรับรองอย่างถูกต้อง แต่ผู้ตรวจสอบไม่รู้ว่าบัตรนั้นเป็นบัตรจริงหรือบัตรปลอม หรือบัตรอาจจะหมดอายุไปแล้ว จะเห็นได้ว่าถึงวิธีการนี้จะเป็นวิธีการดั้งเดิมที่มีการใช้มานานแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัตรอย่างสะดวกและง่ายดายได้ ทำให้การปลอมแปลงบัตรเพื่อแอบอ้างก็ยังคงมีให้เห็นและยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน
และถึงแม้ว่าจะเป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐจริง จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนสามารถประเมินการให้บริการได้ว่าได้รับบริการที่ดี สุจริตและโปร่งใส ซึงในปัจจุบันการที่จะประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการกับเจ้าหน้าที่ หรือหากต้องการจะโทรไปร้องเรียนก็ไม่มีข้อมูลของผู้ทำหน้าที่คนดังกล่าว เพราะการแสดงบัตรประจำตัวเพื่อยืนยันตัวตนนั้น ประชาชนไม่สามารถที่จะจดหมายเลขจากบัตรประจำตัวหรือดูรายละเอียดต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นสามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เก็บข้อมูลส่วนกลาง โดยมีการเก็บข้อมูลกระจายไวในหลายๆ หน่วยงานได้ ทำให้เราสามารถอ่านข้อมูลจากบล็อกเชนในการตรวจสอบความถูกต้องและก็ยืนยันตัวตนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างง่ายดาย โดยการสร้างโมบายแอปพลิเคชันขึ้นมาให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกบัตรประจำตัวหรือบัตรรับรองใหม่ด้วยการใช้รหัสคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นรหัสที่ง่ายต่อการ แปลงเป็นรหัสประจำตัวเจ้าหน้าที่/พนักงานเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน ประชาชนก็เพียงแค่โหลดแอพพลิเคชั่นการยืนยันตัวตนของภาครัฐ/เอกชนบนโทรศัพท์มือถือและใช้กล้องถ่ายรูปในการอ่านรหัสคิวอาร์โค้ดจากบัตรประจำตัวดังกล่าว ก็สามารถที่จะยืนยันตัวตนที่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ โดยจะมีทั้งรูปถ่ายและรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ เพื่อจะสามารถตรวจสอบยืนยัน สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเป็นเป็นตัวแทนของภาครัฐหรือตัวแทนของภาคเอกชนที่ถูกต้องจริง
แต่หากหน่วยงานไหนยังไม่พร้อมที่จะออกบัตรประจำตัวที่มีรหัสคิวอาร์โค้ดเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนในรูปแบบใหม่ก็สามารถที่จะสร้างบัตรเสมือน (virtual card)โดยให้เจ้าหน้าที่/พนักงานดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตัวเดียวกัน จากนั้นก็เลือกหน่วยงานที่ทำงานอยู่และยืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่านที่ถูกต้องและยืนยันตัวเองด้วยรหัส one-time-password (OTP) ที่ส่งผ่านมาทาง SMS จากนั้นแอปพลิเคชันดังกล่าวจะสามารถแสดงบัตรเสมือนออกมาพร้อมกับคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ในการตรวจสอบได้ ในการพัฒนาระบบดังกล่าวนี้ หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนเพียงแค่อัพโหลดข้อมูลของผู้ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐเข้าไปในระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน ข้อมูลกลาง ซึ่งเป็นตัวกลางในการจัดเก็บข้อมูลโดยกำหนดประเภทของบัตรประจำตัวให้ถูกต้องก็เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นระบบนี้จึงมีต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ กล่าวคือภาครัฐจะต้องมาสร้างฐานข้อมูลกลางลงทุนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต้นทุนสูงและต้องลงทุนในศูนย์สำรองข้อมูลอีก การพัฒนาก็ใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะสำเร็จเรียบร้อย ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบสำหรับประชาชนหรือนักท่องเที่ยว ผู้ใช้งานก็เพียงแค่โหลดแอปพลิเคชันในการยืนยันตัวตนดังกล่าว เพียงแอปพลิเคชั่นเดียวก็สามารถที่จะตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ออกให้ในประเทศได้ทุกรูปแบบ ทั้งนี้ยังสามารถใช้ตรวจสอบร้านค้า สถานบริการ คลินิก แพทย์ พยาบาล และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้ผ่านการลงทะเบียนและรับรองจากภาครัฐ
สำหรับผู้ใช้งานระบบยืนยันตัวตนของตัวแทนหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนด้วยโมบายแอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถยืนยันตัวตนผ่านบัญชีบน Facebook หรือบน Gmail ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการลงทะเบียน เมื่อมีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ภาครัฐแล้วด้วยการใช้คิวอาร์โค้ด ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะอยู่ในโมบายแอปพลิเคชันของท่าน ทำให้ท่านสามารถตรวจสอบความถูกต้องทั้ง ชื่อ ที่อยู่ รูปถ่ายได้อย่างอย่างชัดเจน นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังเปิดให้ท่านสามารถประเมินความพึงพอใจในการให้บริการของตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนได้ โดยระบบจัดเก็บข้อมูลการประเมินความพึงพอใจเป็นความลับ เพื่อเอาไว้ใช้ในการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานและประเมินผลการดำเนินงานจากความพึงพอใจของประชาชน
ระบบยืนยันตัวตนของตัวแทนหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนนี้ยังสามารถรองรับการยืนยันแบบสองทาง หมายถึงบุคคลทั้งสองคนสามารถยืนยันตัวตนกันได้ ตัวอย่างเช่นการตรวจบัตรแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐตรวจบัตรประจำตัวของแรงงานต่างด้าว แรงงานต่างด้าวก็สามารถตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้เช่นกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ตรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐจริง ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายมีการใช้โมบายแอปพลิเคชันก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนรหัสคิวอาร์โค้ดของกันและกัน พร้อมกับการยืนยันตัวตนทั้งสองด้านได้พร้อมกันทันที |